ในกรณีที่ท่านต้องการลงทุนในภูมิภาคอเมริกาเหนือ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครนิวยอร์ก (BOI New York) และสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครลอสแอนเจลิส (BOI Los Angeles) พร้อมยินดีให้บริการประสานนัดหมายหน่วยงาน องค์กร และบริษัทที่เกี่ยวข้องแก่ท่าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับบริการอื่นๆ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) มีดังนี้
- ให้คำปรึกษาทางการลงทุน และคำแนะนำการขอรับการส่งเสริมการลงทุน
- บริการเชื่อมโยงและจัดหาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ
- บริการจัดหาผู้ร่วมทุน
- อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
เกี่ยวกับ สกท.
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เป็นผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งประกอบไปด้วยมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอาการ และสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร โดยกำหนดเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมเพียง 1,000,000 บาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) และแบ่งประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนออกเป็นหมวดใหญ่ๆ ตามรายอุตสาหกรรมได้ 7 หมวดดังนี้
1. อุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร
2. อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นพื้นฐาน
3. อุตสาหกรรมเบา
4. อุตสาหกกรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง
5. อุตสาหกกรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
6. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และพลาสติก
7. อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค
สำหรับรายละเอียดบัญชีประเภทกิจกรรมในแต่ละหมวด สามารถดูได้ที่ คู่มือการขอรับการส่งเสริมการลงทุน
การแบ่งเขตการลงทุน
คณะกรรมการได้แบ่งเขตการลงทุนออกเป็น 3 เขต ตามปัจจัยทางเศรษฐกิจโดยใช้รายได้และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานของแต่ละจังหวัดเป็นเกณฑ์ ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกันตามพื้นที่เขตการลงทุน โดยมีการแบ่งเขตการลงทุนดังนี้
- เขต 1 ประกอบด้วย 6 จังหวัดในส่วนกลาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
- เขต 2 ประกอบด้วย 12 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต ระยอง ราชบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง
- เขต 3 ประกอบด้วย 58 จังหวัด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 36 จังหวัด และ 22 จังหวัด รายได้ตํ่า ดังนี้
36 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยนาท ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่
ตรัง ตราด ตาก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พังงา พัทลุง
พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ระนอง ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย สงขลา
สระแก้ว สิงห์บุรี สุโขทัย สุราษฎร์ธานี อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
22 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ นครพนม นราธิวาส น่าน บุรีรัมย์ ปัตตานี พะเยา แพร่ มหาสารคาม
ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สูตล สุรินทร์ หนองบัวลำภู ชัยภูมิ หนองคาย อุบลราชธานี
อุดรธานี และอำนาจเจริญ
สิทธิประโยชน์
มาตรการการให้สิทธิประโยชน์ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตั้งไว้ มีดังนี้
- สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ได้แก่
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินปันผล
- ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50
- ยกเว้น/ลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร
- ลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น
- ให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา เป็นสองเท่า
- ให้หักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นร้อยละ 25
- ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก
- สิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร
- อนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาเพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุน
- อนุญาตให้นำข่างฝีมือ และผู้ชำนาญเข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
- อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน
- อนุญาตให้ส่งออกซึ่งเงินตราต่างประเทศ
นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยกำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมเพียง 500,000 บาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) เพื่อส่งเสริมศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs ของประเทศไทยสามารถก้าวสู่ระดับสากลมากขึ้น โดยประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและเงื่อนไขของกิจการตามนโยบายดังกล่าว สามารถดูได้ที่นี่
กิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
เพื่อเป็นการสร้างความเจริญเติบโตให้แก่อุตสาหกรรมภายในประเทศ และยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ประกาศกลุ่มกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษ 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มกิจการที่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงานและพลังงานทดแทน, กลุ่มกิจการผลิตวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกลุ่มกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยรายละเอียดของประเภทกิจการและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ สามารถดูได้ที่นี่
|